"เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย" เป็นวรรคทองที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบ่อย ๆ บางคนอาจจะได้ยินได้ฟังในรูปของบทเพลง "เมืองกังวล" บทประพันธ์เต็ม ๆ คือ
เมืองใดไม่มีทหารหาญ เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า
เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน
เมืองใดไม่มีพณิชเลิศ เมืองนั้นย่อมเกิดขัดสน
เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม
เมืองใดไม่มีกวีแก้ว เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม
เมืองใดไร้นารีงาม เมืองนั้นสิ้นความภูมิใจ
เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย
เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย ฯ
หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 แต่จริง ๆ แล้ว บทประพันธ์นี้เป็นของคุณถนอม อัครเศรณีค่ะ
ใครคือ "ถนอม อัครเศรณี"
ชื่อ ถนอม อัครเศรณี อาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าพูดถึง "ศิราณี" นี่หลายคนต้องร้องอ๋อ เพราะเป็นคอลัมนิสต์ระดับตำนาน เจ้าของคอลัมน์ตอบปัญหาหัวใจแห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนั่นเอง คุณถนอมแต่งบทกลอนนี้โดยใช้นามปากกาว่า "อัครรักษ์" ค่ะ
จาก "หัวใจเมือง" สู่ "เมืองกังวล"
ครั้งแรกนั้น คุณถนอมส่งบทประพันธ์นี้ไปตีพิมพ์ในหนังสือของโรงเรียนประจำอำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี โดยใช้ชื่อบทประพันธ์ว่า "หัวใจเมือง" ต่อมานำมาลงคอลัมน์ "ภาษาสวรรค์" ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ "เจ้าพระยา" ฉบับวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2493 หลังจากนั้นได้ตีพิมพ์ในแหล่งต่าง ๆ อีกหลายครั้ง
ช่วงหนึ่งที่คุณถนอมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับคุณสง่า อารัมภีร์ หรือ "แจ๋ว วรจักร" คุณถนอมได้ส่งบทประพันธ์นี้ให้คุณสง่าแต่งทำนอง แต่กว่าคุณสง่าจะได้แต่งทำนองก็ล่วงเลยมาหลายปี และเปลี่ยนชื่อจาก "หัวใจเมือง" เป็น "เมืองกังวล"
การที่บทประพันธ์ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ทำให้คุณถนอมร้อนใจมาก เห็นได้จากเนื้อความในจดหมายที่คุณถนอมเขียนถึง "อิงอร" เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2527
เพื่อนฝูงคิดดูเถิด บทกลอนของผมนั้นเปรียบได้เพียงเศษธุลี เป็นละอองธุลีพระบาทของบทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่าน เมื่อมีเหตุการณ์ทำให้ประชาชนเกิดความสำคัญผิดพลาดเช่นนี้ ขืนเพิกเฉยต่อไปมิเท่ากับว่า ผมปล่อยให้ราคีเกิดแปดเปื้อนแก่บทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่านด้วยมิบังควรเช่นนั้นละหรือ ?